/เกาะสมุย - ประเพณีการชักพระ์/  

 

 
 

แผนที่เกาะสมุย - แนะนำประเพณีอื่น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
   
 

ประเพณีการชักพระ์ การชักพระเป็นประเพณีหนึ่งที่ชาวสมุยได้กระทำ สืบต่อกันมานานแล้ว ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มตั้งแต่ปีไหน แต่เมื่อได้เห็นเรือพนมพระตามวัดเก่าแก่แล้ว ทำให้คิดว่าจะมีประเพณีชักพระตั้งแต่ชุมชนเริ่มมีวัด แล้วประเพณีหลายอย่างก็เกิดตามมา เช่น ประเพณีทำบุญนัวนเข้าพรรษา วันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษานี้เกี่ยวข้องกับการชักพระโดยตรง

ตามตำนานพุทธประวัติได้กล่าวถึงการที่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ 7 เมื่อเทียบกับเวลาโลกมนุษย์สามเดือน ก็เท่ากับบนสวรรค์ชั่วครู่หนึ่งเท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์ออกพรรษาแล้วก็เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ที่เมืองสังกัสสะ มีเทวดาตามส่งเสด็จและชาวบ้านชาวเมืองไปต้อนรับในวันนั้นมากมาย วันนี้ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

ประเพณีชักพระจึงเกิดขึ้นจากตำนานตอนที่ว่า นี้ พอถึงวันออกพรรษาบรรดาวัดวาอารามต่างๆ ก็จัดตกแต่งพระนำพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแห่แหนไปในที่ต่างๆ บางวัดแห่วันเดียวก็กลับวัด บางวัดก็มีการนำเรือพระไปค้างคืนที่ในหมู่บ้านหรือสถานที่ที่กำหนดไว้เป็น ประจำ กลางคืนมีการเจริญพระพุทธมนต์ และมีมหรสพสมโภช รุ่งขึ้นก็แห่พระกลับวัด การแห่เรือพระนี้เป็นการชักพระจริงๆ คือมีสายหวายขนาดใหญ่ผูกกับเรือพระข้างซ้าย – ขวา แล้วให้ประชาชนชักไปข้างหน้าทั้ง 2 เส้น เรือพระ เป็นโครงสร้างของไม่ขนาดใหญ่และไม่มีล้อเลื่อนใดๆมาประกอบ เพราฉะนั้นจึงหนักมากต้องใช้คนชักเป็นจำนวนสิบๆ คนขึ้นไป และรองเอาน้ำใต้อาสน์พระมาดื่มกินและชุบศีรษะ ถือเป็นมงคงชีวิตประการหนึ่ง
ในบางท้องที่บางตำบล มีการชักพระทางน้ำ เมื่อก่อนมีที่ตำบลเกาะพงัน ซึ่งยังขึ้นกับอำเภอเกาะสมุยในขณะนั้น และที่บ้านปลายแหลม ตำบลบ่อผุด เท่านั้น ส่วนที่อื่นไม่ปรากฎเพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่อำนวย

สถานที่ทั้งสองแห่งที่กล่าวถึงนี้ จะเปลี่ยนวันชักพระจากวันแรม 1 ค้ำ เดือน 11 มาเป็นแรม 8 ค่ำ เดือน 11 เพราวันนั้นเป็นวันที่น้ำทะเลขึ้นสูงเต็มฝั่ง ปรากฎตามเพลงชักพระที่ว่า “เดือนสิบเอ็ดเดือนแปดแสงแดดเรืองเรือง ชาวเมืองถ้วนหน้าชักพระเรือ” การชักพระเรือนี้ การประดับเรือพระจะใช้เรือขนาดกลาง 2 ลำมาผูกติดกันเป็นแพขนาน แล้วตั้งพนมพระนำพระพุทธรูปมาประดิษฐาน ใช้สายเชือกยาวมาก ผุกหัวเรือให้ประชาชนนำเรือมาเทียบแล้วพายชักพระไปในทะเล ซี่งภาษาถิ่นเรียกว่า “ในนา” คือน้ำไม่ลึกมากนัก เมื่อแรกจัดเรือเท่าที่จำได้มีเรือมาเข้าขบวนเป็นจำนวนมาก คือบรรดาเรือพายในท้องถิ่นนั้นจะมาเข้าร่วมขบวนกันหมด ไม่เหลือแม้แต่ลำเดียว การแต่งกายก็ประกวดประชันกันเต็มที่ ส่วนมากประเภทสตรีจะแต่งลำละสี ว่าเพลงเกี้ยวกันเป็นที่สนุกสนาน และมีข้อบัญญัติพิเศษสำหรับการชักพระนี้อยู่ว่า การขว้างปาสาหร่ายทะเลของหนุ่มสาวประกอบการว่าเพลงชักพระไม่เป็นการผิดศีล ธรรม คือใครจะขว้างปาสาหร่ายทะเลในสายพระเขาจะไม่ถือกัน ทำได้เต็มที่ ต่อมาการชักพระทางเรือได้วิวัฒนาการจากทะเลขึ้นฝั่ง มีการประกวดต่างๆ เพิ่มขึ้น มีผู้คนมากขึ้นจึงไม่มีใครปรารถนาจะลงทะเลเลย เรือพระก็อยู่แต่เรือพระ คนก็อยู่ส่วนคน รากรอยเดิมไม่ค่อยมี เหลือให้เห็นเช่นเดียวกับการชักพระทางบก เวลานี้สายหวายใหญ่ที่ลากเรือพระแบบเดิมก็ไม่มีหลงเหลือให้เห็น มีแต่เรือพระซึ่งประดิษฐ์ตบแต่งอยู่บนรถยนต์ นำไปประกวดประชันกันเพื่อรับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ ตามลำดับ คิดว่าต่อไปข้างหน้าคำว่า ชักพระ คงจะเลือนหายไป ส่วนคำที่ใช้แทนคำว่า ชักพระ นั้น อนุชนรุ่นหลังเขาคงกำหนดเอง คงไม่จำเป็นต้องไปกำหนดให้เขาล่วงหน้าแต่อย่างใด


 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
       
       
       
เว็บไซท์ www.landsamui.com | e-mail: info@landsamui.com | Tel. 089-6856100 |