/เกาะสมุย - ประเพณีลอยเคราะห์/  

 

 
 

แผนที่เกาะสมุย - แนะนำประเพณีอื่น

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
   
 

ประเพณีลอยเคราะห์ พิธีลอยเคราะห์ เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวไทยทางภาคใต้ ซึ่งอยู่ติดกับทะเล โดยนำแบบอย่างของชาวฮินดูในประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาลมาใช้ ซึ่งนั่นก็คือพิธีล้างบาป ของศาสนาพราหมณ์

จากหนังสือพิธีกรรมต่างๆ แห่งวัดสวนโมกข์ (พระสมโชคแห่งวัดเขาเล่ห์) เป็นผู้บอกกล่าวและจากสำนักอื่นๆ ที่พอจะเชื่อถือได้ครั้งหนึ่งในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาพระพุทธเจ้าได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ จำนวน 1,250 รูป ซึ่งล้วนมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งนับเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก ความทราบไปถึงพวกฮินดูซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ ก็คิดที่จะประกอบพิธีบูชาเทพเจ้าแห่งศาสนาของตนในวันดังกล่าวด้วย นั่นคือพิธีบูชาพระศิวะ โดยจัดพิธีในตอนกลางคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เช่นกันพราหมณ์เรียกพิธีนั้นว่า พิธีศิวะราตรี (ศิวะ + ราตรี) คือ การบูชาพระศิวะในตอนกลางคืน โดยประกอบพิธีริมแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนจะลงไปอาบน้ำ ดื่มกินน้ำในแม่น้ำคงคาซึ่งพวกฮินดูถือว่าจะได้บุญยิ่ง ความเจ็บไข้ เคราะห์ร้ายต่างๆ ก็หายไป

ตามหลักฐานการเข้าสู่เมืองไทยของศาสนาพุทธ บอกว่าศาสนาพุทธเข้าสู่เมืองไทยทางตอนใต้ของประเทศ นั่นคือเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่าเมือง ตามะลิงค์ หรือ ตามพรลิงค์ เป็นเมืองที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งเป็นที่แรก

โดยที่ศาสนาพุทธเดิมเกิดจากประเทศอินเดีย ฉะนั้นเมื่อศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศไทย ก็นำเอาอารยธรรมต่างๆ ของอินเดียเข้ามาด้วยโดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ โดยที่เราไม่ทราบว่ามีพิธีกรรมอันไหนเป็นของพุทธ อันไหนเป็นของพราหมณ์ เช่น พิธีโกนจุก แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ พิธีศพ การไหว้พระภูมิเจ้าที่ ฯลฯ ซึ่งพิธีเหล่านั้นเป็นของพราหมณ์ แต่เวลาประกอบพิธีส่วนมากจะมีพระสงฆ์เป็นผู้ประกอบพิธีให้คำว่า “เคราะห์” (พราหมณ์) ตรงกับพุทธ คำว่า “อุปัทวะ” คือสิ่งที่คอยทำให้ขัดข้อง ขุ่นมัว มัวหมอง เลวร้าย

การลอยเคราะห์ ก็คือการนำสิ่งไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง ออกจากร่างกาย ครอบครัว หมู่บ้านโดยเชิญท่านผู้รู้เช่น พราหมณ์ พระภิกษุผู้รู้ มาสาธยายมนต์เพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายออกไป

ชาวสมุยได้นำพิธีกรรมนี้มาจากนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นของพราหมณ์ที่ปะปนมากับศาสนาพุทธในตอนศาสนาเข้าสู่ประเทศ โดยเหตุที่เดิมขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าสู่เกาะสมุยด้วย

พิธีลอยเคราะห์ของชาวสมุย สมัยก่อนนิยมประกอบพิธีในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม เพราะเป็นฤดูแล้ง สถานที่ประกอบพิธีส่วนมากจะเป็นสถานที่ใกล้ๆ ชายทะเล ทุกแห่งจะปลูกศาลา (ศาล) ไว้ 1 หลัง เรียกว่าศาลพ่อตา คือที่ประทับของเทวดาผู้คุ้มครองหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากโรคร้ายและอัปมงคลทั้งปวง บางหมู่บ้านที่อยู่ไกลทะเลก็นิยมปลูกศาลา (ศาล) ไว้กลางทุ่งนา ซึ่งเรียกว่าศาลพ่อตาเช่นกัน

พิธีทำบุญลอยเคราะห์ จะจัดร่วมกับพิธีทำบุญศาลาพ่อตา หรือที่เรียกกันว่า ทำบุญหน้าบ้าน การประกอบพิธี ในตอนกลางคืนนิมนต์พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ มีมโนราห์แสดงรุ่งเช้าชาวบ้านจะทำอาหารไปถวายพระ จากนั้นจึงประกอบพิธีลอยเคราะห์ขั้นตอนแรกมโนราห์ตัวนายโรงจะประกอบพิธีฉีกเหมรย (จำเลย) คือสิ่งที่ชาวบ้านบนบานต่อเทวดาผู้คุ้มครองหมู่บ้าน (พ่อตา) ว่าตั้งแต่นี้ต่อไปสิ่งที่บนบานเอาไว้ขอให้ขาดหายต่อกัน โดยให้นายโรงมโนราห์เป็นคนฉีกเหมรยโดยการใช้มีดดาบประกอบพิธีท่ารำแล้วแทงลงที่ห่อเหมรยที่ผูกไว้ที่เสาต้นกลางหน้าศาลพ่อตา ก็เป็นอันว่าพิธีฉีกเหมรยก็เสร็จจากนั้นถ้าเป็นหมู่บ้านชายทะเล ก็จะมีพิธีลอยเคราะห์ต่อไป โดยจะทำเป็นเรือหรือแพเล็กๆใช้เสื่อใบลานเป็นใบเรือหรือแพเพื่อที่จะได้นำเรือหรือแพออกจากฝั่ง โดยชาวบ้านจะนำข้าวสารอาหารแห้งอย่างละนิดละหน่อย ตัดเล็บมือเล็บเท้า เส้นผม เสื้อผ้า เศษเงินลงในเรือเคราะห์ โดยจะนำเรือเคราะห์ลงสู่ทะเลลึกที่มีกระแสน้ำเชี่ยวเพื่อป้องกันไม่ให้เรือเคาะห์กลับสู่ฝั่ง ผู้เขียนจำได้ว่าสมัยก่อนประมาณ 50 -60 ปีมาแล้ว ผู้นำเรือเคราะห์สู่ทะเลจะแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาวแบบพราหมณ์ ขณะนำเรือเคราะห์ออกจากฝั่งก็จะมีสวดสาธยายมนต์ เพื่อขับสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้าน โดยความหมายว่าให้ลอยไปกับเรือเคราะห์ลำนั้น

บทสวดมนต์ที่นำมาสาธยาย มี อาทิ บทชุมนุมเทวดา บทสัมพุทเธ นะโมการะอัฎฐะกะ กะระณียะ เมตตะสุตตัง บทบูชาคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โพชฌังคะปะริตตัง ฯลฯ

เมื่อนำเรือเคราะห์ออกสู่ทะเล และจบบทสาธยายมนต์ก็เป็นอันว่าพิธีลอยเคราะห์จบลง ชาวบ้านก็จะนำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมาดื่มกิน ลูบหน้า ชุบศีรษะ ถือว่าเป็นมงคลแก่ตนเอง พิธีนี้จะมีอีกใน 1 ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน พิธีทำบุญหน้าบ้านยังมีอยู่ แต่พิธีลอยเคราะห์เกือบจะหมดไปจะมีก็แต่ตำบลแม่น้ำ ซึ่งก็เพียงบางหมู่บ้านเท่านั้นเป้นที่น่าเสียดายว่าพิธีนี้จะหมดไปจากแผ่นดินสมุย จึงควรที่จะทำการฟื้นฟูเพื่อสืบสานวัฒนธรรมท่ดีงามที่บรรพบุรุษเคยปฎิบัติสืบต่อกันมาให้คงอยู่สืบไป

หมายเหตุ การทำบุญหน้าบ้านหรือทำบุญศาลาพ่อตา นิยมประกอบพิธีในวันเสาร์หรือวันอังคาร


 
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
   
       
       
       
เว็บไซท์ www.landsamui.com | e-mail: info@landsamui.com | Tel. 089-6856100 |